
- On 29/05/2021
- In บทความท่องเที่ยว
- Tags:
ไม่มีความเห็น
ทางเลือกในการใช้กัญชาเพื่อการแพทย์
บทความจาก High Thailand 09/02/2021
ในปัจจุบันกลุ่มคนป่วยที่ต้องการใช้กัญชาเพื่อบรรเทาอาการและโรคต่างๆมีทางเลือกในการใช้หลายวิธีเช่น สูบหรือเวป (Vape) นำมาทำเป็นอาหาร (Edibles) ยาทาภายนอก (Topicals) ฯลฯ
แต่สำหรับคนไข้เฉพาะกลุ่มอย่างเช่นเด็ก คนชรา ผู้ป่วยโรคปอด หรือกลุ่มคนที่ไม่สามารถรับประทานอาหารนั้นยังมีโอกาสได้ใช้ประโยชน์จากกัญชาในอีกรูปแบบซึ่งคือการหยดใต้ลิ้น (Sublingual) โดยแบ่งออกเป็นสองประเภทได้แก่ น้ำมันสกัดแคนนาบิไดออล (CBD Oil) และทิงเจอร์กัญชา (Tincture)
ผู้ป่วยหลายๆคนเข้าใจว่าน้ำมันสกัดมาในแบบเดียว แต่ต้องเข้าใจว่ามันมีวิธีและขั้นตอนที่จะนำไปสู่ผลผลิตสุดท้ายในการสกัดยาที่มีคุณภาพเพื่อใช้รักษาโรคโดยเฉพาะ ซึ่งแบ่งได้สองประเภท
น้ำมันกัญชาสกัดแคนนาบิไดออล – CBD Oil
จัดอยู่ในน้ำมันกัญชาสกัดเพื่อใช้ด้านการแพทย์ (Medical Marijuana Oil) โดยเน้นการใช้ประโยชน์จากสารแคนนาบิไดออล (CBD) หนึ่งในสารหลักของแคนนาบินอยด์ในกัญชาที่ไม่ออกฤทธิ์มึนเมาแต่มีประโยชน์ในการช่วยลดอาการชัก และบรรเทาอาการเกร็งกล้ามเนื้อได้เป็นอย่างดี
วิธีการทำน้ำมันสกัดแคนนาบิไดออลนั้นทำโดยใช้เครื่องมือเฉพาะที่เรียกว่า Supercritical Co2 โดยใช้คาร์บอนไดออกไซด์เช่นเดียวกับการสกัดผลิตภัณฑ์อาหารเช่น การสกัดวิตามินจากผัก หรือแคฟฟีนจากเมล็ดกาแฟ โดยวิธีนี้สามารถสกัดสารแคนนาบินอยด์ที่มีประโยชน์ออกมาได้และไม่มีสารเคมีตกค้างใดๆ
ลักษณะน้ำมันจะมีสีเข้มและข้น วิธีใช้จะทำการหยดใต้ลิ้น (Sublingual) โดยปริมาณนั้นจะแตกต่างกันแต่ละคนไป และจะได้รับการซึบเข้าสู่ร่างกายภายใน 10-15 นาที เหมาะกับคนเป็นโรคข้ออักเสบ (Arthritis) โรคเบาหวาน (Diabetes) โรคเครียดจากเหตุการณ์ร้ายแรง (PTSD) และโรคจิตเภท (Schizophrenia)
น้ำมันสกัดแคนนาบิไดออลนั้นถือว่าได้เปิดทางให้กับกัญชาและเด็กทีมีโรคลมชักได้เพราะวิธีการทานยานั้นไม่จำเป็นต้องสูบและไม่ออกฤทธิ์มึนเมาใดๆ รวมถึงประสิทธิภาพที่ออกฤทธิ์เห็นผลทันที
————————————————————————
Marijuana Tinctures – ทิงเจอร์กัญชา
คือยาเหลวที่ใช้แอลกอฮอลล์ (Alcohol) กลีเซอรีน (Glycerine) หรือ MCT Oil ซึ่งมาจากน้ำมันของพืชเช่น น้ำมันมะพร้าวและน้ำมันปาล์มหมักกับผสมกับกัญชา
ทิงเจอร์นั้นมีประวัติการใช้มานานหลายปีทั่วโลก มีการจำหน่ายตามร้านขายยาทั่วไป และเป็นที่นิยมอย่างมากในอเมริกาช่วงยุค 1900’s (ช่วงยุคเดียวกับการใช้ยาต่างๆไม่ว่าจะเป็นโคเคน เฮโรอีนเพื่อแก้ปวดและโรคอื่นๆ)
ทิงเจอร์ในสมัยนั้นจะเป็นการสกัดด้วยการใช้แอลกอฮอลล์ มีลักษณะเป็นสีดำ จะมีรสชาติที่เข้มข้นและมักนำมาผสมในเครื่องดื่ม แต่ในปัจจุบันนั้นมีการหมักผสมกับกลีเซอรีน ซึ่งจะให้รสชาติที่หวานกว่า และเป็นอีกตัวเลือกให้กลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงโรคสุราเรื้อรังสามารถใช้ได้ วิธีใช้จะทำการหยดใต้ลิ้น (sublingual) เช่นเดียวกัน
แต่ทิงเจอร์กัญชานั้นกลับมีข้อเสียหลักๆ ยังไม่มีความสม่ำเสมอในคุณภาพผลผลิตสุดท้ายจึงมีไม่มีประสิทธิภาพในการรักษาเท่าที่ควร
————————————————————————
ความแตกต่างระหว่างทิงเจอร์กัญชากับน้ำมันสกัดแคนนาบิไดออล
ขั้นตอนการทำของทิงเจอร์นั้นง่ายและไม่อันตราย (ต่างจากน้ำมันสกัดแคนนาบิไดออลที่ต้องมีอุปกรณ์เฉพาะ) สามารถทำเก็บไว้ใช้เองได้ โดยคัดดอกกัญชาที่แห้งมาใส่ขวดโหลที่มีแอลกอฮอลล์หรือกลีเซอรีน แช่เก็บไว้ประมาณ 2 – 6 เดือน โดยเขย่าวันละครั้ง (แต่ละสูตรจะแต่ต่างกันไป)
แต่แน่นอนว่าประสิทธิภาพในการรักษานั้นสู้น้ำมันสกัดแคนนาบิไดออลไม่ได้ พูดง่ายๆว่า ทิงเจอร์เหมือนยาบ้านที่สามารถทำเก็บไว้ใช้บรรเทาอาการปวดทั่วไป แต่หากจะต้องใช้รักษาโรคที่ร้ายแรงควรใช้น้ำมันสกัดแคนนาบิไดออลดีกว่า
แน่นอนว่าผลผลิตที่มีประสิทธิภาพนั้นก็ต้องมาจากกัญชาคุณภาพที่ดีเช่นเดียวกัน และการเลือกใช้ชนิดของกัญชาก็มีความสำคัญด้วย อย่างอินดีก้า (Indica) ก็เพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อและบรรเทาอาการชัก ช่วยอาการนอนไม่หลับ ส่วนซาติว่า (Sativa) นั้นเพื่อช่วยลดอาการปวดและลดอาการคลื่นไส้อาเจียน
————————————————————————
ปัจจุบันแพทย์แผนปัจจุบันในไทยจำกัดเพียง 4 โรคที่สามารถเข้าถึงการรักษาโดยใช้กัญชาร่วมได้แก่
1. ภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด (chemotherapy induced nausea and vomiting)
2. โรคลมชักที่รักษายาก และโรคลมชักที่ดื้อต่อยารักษา (intractable epilepsy)
3. ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็ง (spasticity) ในผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (multiple sclerosis)
4. ภาวะปวดประสาท (neuropathic pain)
กัญชานั้นถือว่าเป็นอีกทางเลือกการรักษาและบรรเทาอาการของโรคต่างๆโดยผู้ป่วยทุกคนต้องมีใบสั่งยาหรือใบรับรองแพทย์อย่างชัดเจนเพื่อระบุเหตุผลในการใช้ ซึ่งแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทยจะจ่ายกัญชาทางการแพทย์ให้ผู้ป่วย เมื่อวิธีการรักษาปกติไม่ได้ผลเท่านั้น